วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รู้จักกับ หนอน กอข้าว (rice stem borers, SB)

ข้อมูลจาก ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น

หนอน กอข้าว (rice stem borers, SB)
        หนอนกอทำลายข้าวตั้งแต่ข้าวเล็กจนถึงระยะข้าวออกรวง ในประเทศไทยมีรายงานพบ 4 ชนิด คือ หนอนกอสีครีม หนอนกอแถบลาย หนอนกอแถบลายสีม่วง และหนอนกอสีชมพู
ลักษณะการทำลายและการระบาด

        หนอนกอข้าวทั้ง 4 ชนิด ทำลายข้าวลักษณะเดียวกันโดยหลังหนอนฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายกาบใบก่อน ทำให้กาบใบมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ซึ่งจะเห็นเป็นอาการช้ำๆ เมื่อฉีกกาบใบดูจะพบตัวหนอน เมื่อหนอนโตขึ้นจะเข้ากัดกินส่วนของลำต้น ทำให้เกิดอาการใบเหี่ยวในระยะแรก ใบและยอดที่ถูกทำลายจะเหลืองในระยะต่อมา ซึ่งการทำลายในระยะข้าวแตกกอนี้ทำให้เกิดอาการ “ยอดเหี่ยว” (deadheart) ถ้าหนอนเข้าทำลายในระยะข้าวตั้งท้องหรือหลังจากข้าวออกรวงจะทำให้เมล็ดข้าวลีบทั้งรวง รวงข้าวมีสีขาวเรียกอาการนี้ว่า“ข้าวหัวหงอก” (whitehead)
ต้นข้าวยอดเหี่ยว
ข้าวหัวหงอก

ลักษณะการทำลาย ของหนอนกอในข้าว ระยะแตกกอทำให้ยอดเหี่ยว ระยะออกรวงทำให้รวงข้าวสีขาวเมล็ดลีบ

การทำลายในอ้อย หนอนเจาะอ้อยระดับคอดิน กัดกินอยู่ภายในต้นอ้อย ทำให้ยอดอ้อยแห้งตาย

        หนอนกอข้าวเป็นแมลงศัตรูข้าวที่พบเป็นประจำในนาข้าว แต่มักจะไม่ทำความเสียหายข้าวลีบทั้งรวง รวงข้าวมีสีขาวเรียกอาการนี้ว่ารุนแรงเช่นเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พบปริมาณมากในฤดูนาปรัง การทำลายจึงสูงกว่าฤดูนาปี ผีเสื้อหนอนกอข้าวจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่แปลงนาเมื่อข้าวอายุระหว่าง 30-50 วัน การระบาดมากน้อยขึ้นกับสภาพแวดล้อมและฤดูการทำนาของสถานที่นั้นๆ สามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัยต่อฤดูปลูก
พืชอาหาร

        ข้าว อ้อย ข้าวโพด ข้าวป่า หญ้าข้าวนก หญ้าตีนกา

หนอนกอข้าวสีครีม (yellow stem borer)
    
ชื่อวิทยาศาสตร์ Scirpophaga incertulas (Walker)
วงศ์ Pyralidae
อันดับ Lepidoptera
ชื่อสามัญ -
วงจรชีวิตและระยะทำลายพืช  
ไข่ หนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัย
        ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ตัวเมียปีกคู่หน้ามีสีเหลืองคล้ายฟางข้าว ตรงกลางปีกมีจุดสีดำข้างละจุด ปลายส่วนท้องมีขนเป็นพู่สีน้ำตาลปกคลุม ตัวผู้ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลคล้ำ กลางปีกมีจุดดำข้างละจุดแต่มีขนาดเล็กกว่า จุดดำบนปีกของเพศเมีย ขอบปีกมีจุดดำเล็กๆเรียงเป็นแถวระหว่างจุดตรงกลางปีกและจุดเล็กๆ ตรงขอบปีก จะมีแถบสีน้ำตาลพาดจากขอบปีกด้านบนลงมา ปีกคู่หลังสีน้ำตาลอ่อน ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มตามปลายใบข้าว โดยกลุ่มไข่มีขนสีน้ำตาลปกคลุม กลุ่มไข่อาจจะกลมหรือรียาว ตัวหนอนสีขาวหรือครีม หัวสีน้ำตาลแกมเหลือง ลำตัวยาว หัวท้ายเรียวแหลม มี 6 ระยะ และเข้าดักแด้ภายในลำตัวบริเวณข้อปล้องเหนือผิวน้ำ ระยะหนอน 35-45 วัน ระยะไข่นาน 6-7 วัน ระยะดักแด้ประมาณ 8-13 วัน พบทำความเสียหายแก่ข้าวทั่วประเทศ

หนอนกอแถบลาย (striped stem borer)
  
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chilo suppressalis (Walker)
วงศ์ Pyralidae
อันดับ Lepidoptera
วงจรชีวิตและระยะทำลายพืช  
ไข่ หนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัย
        ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลคล้ายรำข้าว ตามปีกมีลักษณะคล้ายฝุ่นดำเกาะอยู่ประปรายปีกคู่หลังสีน้ำตาลอ่อน ส่วนหัวมองจากข้างบนเห็นยื่นแหลมออกไปคล้ายหนาม ตัวเมียวางไข่บริเวณโคนใบข้าว ไข่มีลักษณะเป็นเกล็ดวางซ้อนกันเป็นกลุ่มๆไข่มีสีขาวขุ่นไม่มีขนปกคลุม ส่วนใหญ่พบอยู่ใต้ใบข้าว หนอนมีแถบสีน้ำตาล 5 แถบพาดตามยาวของลำตัวหัวและแผ่นอกปล้องแรกสีน้ำตาลอ่อน ระยะไข่นาน 4-10 วัน ระยะหนอนนาน 30-40 วัน ระยะดักแด้นาน 4-7 วัน พบแพร่กระจายทั่วไปในนาข้าว โดยเฉพาะในภาคกลางและ         
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หนอนกอแถบลายสีม่วง (dark-headed stem borer)
    
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chilo polychrysus (Meyrick)
วงศ์ Pyralidae
อันดับ Lepidoptera
วงจรชีวิตและระยะทำลายพืช  
ไข่ หนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัย
        ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กคล้ายกับหนอนกอแถบลาย ต่างกันตรงที่ตรงกลางและขอบปีกมีลวดลายสีสนิมเหล็ก และตัวผู้มองดูคล้ายมีรูปตัว Y อยู่ตรงกลางปีก ปีกคู่หลังสีขาวตัวหนอนมีแถบสีม่วง 5 แถบพาดตามยาวของลำตัว หัวมีสีดำหรือน้ำตาลเข้มเกือบดำ ระยะไข่ 5-6 วัน ระยะหนอนนาน 35-40 วัน ระยะดักแด้ 6-9 วัน พบระบาดทั่วทุกภาคของประเทศ

หนอนกอสีชมพู (pink stem borer)
  
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sessamia inferens (Walker)
วงศ์ : Noctuidae
อันดับ : Lepidoptera
ชื่อสามัญอื่น : -
วงจรชีวิตและระยะทำลายพืช
ไข่ หนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัย
        ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ลำตัวอ้วนสั้น หัวและลำตัวมีขนปกคลุม ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลแกมแดง ปีกคู่หลังสีขาว ตัวเมียวางไข่เรียงเป็นแถวระหว่างกาบใบและลำต้น ไข่มีลักษณะกลมสีขาวครีม ตัวหนอนระยะแรกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม เมื่อโตขึ้นลำตัวมีสีชมพูม่วง หนอนมีขนาดโตที่สุดในบรรดาหนอนกอข้าวอีก 3 ชนิด เข้าดักแด้ภายในลำต้นหรือกาบใบข้าว ระยะไข่นานประมาณ 5-6 วัน ระยะหนอนนาน 35-40 วัน ดักแด้นาน 8-12 วัน ปกติพบทั่วไปในฤดูนาปรังมากกว่าฤดูนาปี
        หนอนกอสีชมพู ทำลายข้าวตั้งแต่ระยะกล้าจนถึงระยะตั้งท้อง การทำลายระยะแรกทำให้กาบใบเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล ถ้าหนอนกัดเข้าไปอยู่ในลำต้นจะเกิดอาการ“ยอดเหี่ยว”และแห้งตาย หากหนอนเข้าทำลายในระยะข้าวตั้งท้องหรือหลังจากนั้น รวงข้าวจะมีสีขาว เมล็ดลีบ เรียกว่า “ข้าวหัวหงอก” การทำลายในอ้อย ทำให้ยอดอ้อยแห้งตาย

การป้องกันกำจัด
1) เผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยว ไขน้ำท่วมและไถดินเพื่อทำลายหนอนและดักแด้ของหนอนกอข้าวที่อยู่ตามตอซัง

2) ปลูกพืชอื่นเพื่อตัดวงจรชีวิตของหนอนกอข้าว ปลูกพืชหมุนเวียน
3). ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ทำให้ใบข้าวงามหนอนกอชอบวางไข่
4). ใช้แสงไฟล่อตัวเต็มวัยและทำลาย
5) ไม่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดเม็ดในนาข้าว เพื่อช่วยให้ศัตรูธรรมชาติพวกแตนเบียนไข่และแตนเบียนหนอนของหนอนกอข้าว สามารถควบคุมประชากรหนอนกอข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6 ) เมื่อพบอาการข้าวยอดเหี่ยวในระยะข้าวอายุ 3-4 สัปดาห์หลังหว่าน/ปักดำในระดับ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ให้ใช้สารชนิดพ่นน้ำ เช่น คลอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วแปลงเพียงครั้งเดียว
สารเคมีที่ใช้ควบคุม
  • คาร์แทป 4 กิโลกรัม/ไร่
  • คาร์แทป+ไอโซโพรคาร์บ 3 กิโลกรัม/ไร่
  • คลอร์ไพรีฟอส 40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
  • คาร์โบซัลแฟน 80 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร


ขอบคุณข้อมูลจาก http://kkn-rsc.ricethailand.go.th  (ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น