วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แนวทางการปรับปรุงดินหลังน้ำท่วม

แนวทางการปรับปรุงดินหลังน้ำลด
ในช่วงนี้  แม้จะเป็นช่วงหน้าหนาวแล้วก็ตาม  แต่ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคใต้กลับมี  ฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่    ซึ่งลักษณะอย่างนี้ส่งผลกระทบต่อเรือกสวนไร่นาของ         พี่น้องเกษตรกรอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงทีเดียว    
เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และเมื่อน้ำลดลงแล้ว  ผลกระทบที่จะตามมา คือ    ดินจะเกิดช่องว่างหรือเป็นรูพรุนทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก  และดินจะอิ่มตัวด้วยน้ำจนอ่อนตัว    ทำให้โครงสร้างของดินง่ายต่อการถูกทำลายและเกิดการอัดแน่นได้ง่าย  ดังนั้นในการจัดการดินหรือการเตรียมดินหลังน้ำลดเพื่อให้เหมาะสมต่อการทำเพาะปลูกพืชต่อไป   จึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ  ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติไว้ดังนี้
ประการแรก ให้หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักรกลหนักในการเตรียมดิน   เพราะเครื่องจักรจะทำให้ดินยุบตัวและส่งผลให้ดินแน่นทึบ  เกิดการไหลซึมและการระบายน้ำได้ไม่ดี  อาจทำให้น้ำท่วมขังและไหลบ่าไปตามหน้าดินมากขึ้น  และดินจะขาดการถ่ายเทอากาศ  อันจะเป็นปัจจัยที่จำกัดการเจริญเติบโตของรากพืช    ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคในการใช้ที่ดินในการเกษตรทั้งสิ้น ดังนั้นเกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเตรียมดินด้วยเครื่องจักรกลหนัก
ประการที่สอง  ควรปลูกพืชโดยไถพรวนดินให้น้อยที่สุด  เพื่อลดการรบกวนดินหรืออาจปลูกพืชโดยไม่มีการไถพรวนดินเลย
ประการที่สาม  หากจำเป็นต้องไถพรวนควรใช้เครื่องมือเบาหรือเครื่องมือขนาดเล็ก       แต่ต้องรอให้หน้าดินเริ่มแห้งเสียก่อน  หรือมีความชื้นพอเหมาะสำหรับการไถพรวนหรือขณะที่วัชพืชกำลังเริ่มงอก  ทั้งนี้เพื่อทำลายหรือกำจัดวัชพืชก่อนปลูกพืชหลัก นอกจากนี้อาจหว่านเมล็ดพืชหลักแล้วไถกลบรวมทั้งช่วยกำจัดวัชพืชที่เพิ่งเริ่มงอกไปพร้อม ๆ  กันในครั้งเดียวก็ได้
ประการที่สี่  เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำที่มีอยู่ในดินหลังน้ำลดให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด   โดยการหว่านหรือหยอดเมล็ดพืชโดยไม่ต้องไถพรวน  หรือเปิดร่องฝังเมล็ดพืชแล้วกลบเท่านั้น
ประการที่ห้า   หากเป็นไปได้พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขัง ควรมีการพักดินสักระยะ   ทั้งนี้การพักดินถือเป็นการปรับปรุงบำรุงดินวิธีหนึ่ง  โดยปล่อยพื้นที่ทิ้งว่างไว้ให้หญ้าและวัชพืชเจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ  หรืออาจปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ เช่น ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ ซีรูเลียม  เซ็นโตรซีมา  เป็นต้น
วิธีการที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนี้ นอกจากจะเหมาะกับการฟื้นฟูสภาพดินหลังน้ำลดแล้ว       ยังเหมาะสำหรับการเตรียมการไว้ก่อนน้ำท่วมอีกด้วย คือ ในบริเวณที่แน่ใจว่าจะมีน้ำท่วมขังในปลายฤดูฝนก็อาจปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ก่อนหรือปลูกพืชไร่อายุสั้นที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนจะมีน้ำท่วมขัง      โดยปลูกให้มีระยะถี่กว่าปกติ  และวางแถวพืชขวางความลาดเทของพื้นที่  หรือขวางทิศทางการไหลของน้ำ  และเมื่อเก็บผลผลิตพืชไร่แล้วให้ทิ้งตอซังไว้ในพื้นที่โดยไม่ต้องไถกลบ ทั้งนี้ตอซังที่ไถกลบไปนั้นจะช่วยลด   ความรุนแรงของกระแสน้ำ  และช่วยยึดหน้าดินไม่ให้น้ำพัดพาออกไปจากพื้นที่
                 ประการที่หก ในบางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังในบางจุด เกษตรกรต้องเร่งทำการระบายน้ำหลังน้ำลด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวนไม้ผล ไม้ยืนต้น  การระบายน้ำออกจากพื้นที่เร็วที่สุดจะเติมอากาศหรือออกซิเจนให้กับดิน    ซึ่งจะเร่งการฟื้นตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดน้ำและปุ๋ยของรากให้ดีขึ้นโดยเร็วด้วย   สำหรับการขุดร่องระบายน้ำนั้น กรมวิชาการเกษตรแนะนำว่า  ควรขุดให้ลึกเท่ากับความลึกที่ต้องการระบายน้ำออก  ในทางปฏิบัติควรขุดร่องให้ลึกอย่างน้อย 30-50 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับความลึกที่เป็นอยู่ของรากพืชส่วนใหญ่  น้ำจะระบายออกจากพื้นที่ในระดับความลึกไม่เกินความลึกของร่องระบายน้ำ  ดังนั้นการขุดร่องน่าจะต้องขุดตามแนวลาดเทของพื้นที่  โดยใช้ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ  8-12 เมตร  หรือกึ่งกลางระหว่างแถวพืชยืนต้น
การจัดการดินประการสุดท้าย คือ   ในสภาพน้ำป่าหลากมาท่วมพื้นที่ซึ่งมีดินทรายถูกซัดพามาทับถมอยู่บนผิวดินเดิมค่อนข้างมาก  ภายหลังน้ำลดแล้วให้เกษตรกรขุดลอกดินทรายดังกล่าวออกจากพื้นที่จนถึงผิวดินเดิมหรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ทั้งนี้เพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น  ซึ่งจะช่วยเร่งขบวนการเติมอากาศของดินได้เร็วและดีขึ้นด้วย
 นอกจากการจัดการดินแล้ว ภายหลังน้ำลดเกษตรกรควรให้ปุ๋ยทางใบกับไม้ผลไม้ยืนต้น  เพื่อให้ต้นไม้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น  เพราะรากพืชไม่สามารถทำหน้าที่ในการดูดปุ๋ยและแร่ธาตุต่างๆ ในขณะนั้นได้เต็มที่  จึงขอแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีประเภทเกล็ดสูตร  21-21-21  และ  16-21-27  หรือปุ๋ยน้ำสูตร  12-12-12  หรือ  12-9-6  ในระยะนี้ด้วย
                        หากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการดินหลังน้ำลด  ขอข้มูลเพิ่มเติมได้ที่ กองปฐพีวิทยา  กรมวิชาการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   หมายเลขโทรศัพท์  0-2579-6511
************
เรียบเรียงโดย  ปัณจรีย์  ช่างพูด  นักวิชาการเผยแพร่ 5

กองเกษตรสารนิเทศ   สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
http://www.agric-prod.mju.ac.th/web-veg/article/new130.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น