นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า โครงการหมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร และสถาบันพัฒนาชนบท สาธารณรัฐเกาหลี (Rural Development Administration, RDA) ภายใต้โครงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอาหารและเกษตรแห่งอาเซียน (AFACI) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองและเกิดความมั่นคงทางอาหาร โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก RDA มีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2553-2556
เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน เป็นผู้ประสานงานหลักและขับเคลื่อนโครงการฯ โดยร่วมกับ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยพืชไร่เพชรบูรณ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก และสุโขทัย จัดประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจให้กับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งยังได้จัดทำแปลงสาธิตพันธุ์และการผลิตเมล็ดพันธุ์ ข้าวโพดลูกผสมนครสวรรค์ 3 ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร มีความทนแล้งในช่วง ออกดอก ให้ผลผลิตสูง และต้านทานโรคราน้ำค้าง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกร โดยมีศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์เป็นหน่วยงานเตรียมเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์แท้ พันธุ์แม่ (ตากฟ้า 1) และพันธุ์พ่อ (ตากฟ้า 3) เพื่อให้เกษตรกรนำไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสม นครสวรรค์ 3
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำเอกสารคู่มือการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปสู่เกษตรกร พร้อมสนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ตาก เชียงใหม่ สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมใช้เองในชุมชน เน้นพันธุ์นครสวรรค์ 3 ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 175 คน ใน 52 หมู่บ้าน 34 ตำบล 22 อำเภอ พื้นที่การผลิตรวม 594 ไร่ มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ไปแล้ว 3 รอบการผลิต ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์รวม 80 ตัน กระจายสู่พื้นที่เพาะปลูกได้กว่า 40,000 ไร่
นางสาวชุติมา คชวัฒน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หัวใจสำคัญของการทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เกษตรกรต้องคำนึงถึงความพร้อมหลายด้านไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ การเลือกพื้นที่ปลูก การปลูกและดูแลรักษา การตรวจแปลงและการคัดพันธุ์ปน การกำจัดช่อดอกตัวผู้ในแถวสายพันธุ์แท้พันธุ์แม่ การผสมเกสร การตัดต้นสายพันธุ์แท้พันธุ์พ่อทิ้ง การเก็บเกี่ยว การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น
จากการประเมินผลการดำเนินงาน พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจกับเทคนิคการผลิต ยอมรับและปรับเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรผลิตได้มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง ประมาณ 96-98 % สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ 40% โดยเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ประมาณ 20% ที่เหลือแบ่งปันพี่น้องและจำหน่ายให้กับเกษตรกรในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่รับเมล็ดพันธุ์ไปปลูกก็มีความพึงพอใจเช่นเดียวกัน เนื่องจากเมล็ดพันธุ์มีคุณภาพดี โดยเฉพาะมีเปอร์เซ็นต์งอกและเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง
“หากเกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไว้ใช้เอง จะสามารถช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ได้ค่อนข้างมาก ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาและลดความเสี่ยงการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งคาดว่า โครงการฯ นี้จะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของหมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ และเป็นแรงบันดาลใจให้ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และสามารถพัฒนาเป็นกลุ่มผลิตเพื่อเสริมสร้างรายได้ต่อไป อนาคตหากได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากกรมวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยพืชไร่ฯ มีแผนเร่งขยายผลการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพงป้อนสู่แหล่งผลิต” นาวสาวชุติมากล่าวอย่างไรก็ตาม หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับ “หมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-6841, 0-2940-5492 หรือ 0-2579-3930-1.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น