วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

การจัดการดิน สำหรับ การปลูกมันสำปะหลัง

ผมได้อ่านบทความนี้เห็นว่ามีประโยชน์แต่เกษตรกร จึงนำมาบอกต่อครับ จะช่วยบำรุงดินให้ดีขึ้น

รูปประกอบ 


สภาพและปัจจัยที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกมันสำปะหลัง โดยมันสำปะหลังปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทรายเพราะจะลงหัวและเก็บเกี่ยวง่าย เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีค่าเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ระหว่าง 5.5-8.0 ทนต่อสภาพความเป็นกรดสูงได้แม้ pH ของดินจะต่ำจนถึง 4.5 ก็ไม่ทำให้ผลผลิตลด แต่ไม่ทนต่อสภาพพื้นที่เป็นด่าง โดยไม่สามารถขึ้นได้ถ้า pH สูงถึง 8 ถ้าเป็นดินทรายสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่เกษตรกรมักนิยมปลูกปลายฤดูฝน เช่น แถบจังหวัดระยอง และชลบุรี ถ้าเป็นดินเหนียวจะนิยมปลูกต้นฤดูฝน เพราะถ้าเป็นฤดูแล้งการไถพรวนจะได้ดินก้อนใหญ่ ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจะแห้งตายก่อนที่จะงอก มันสำปะหลังเป็นพืชวันสั้น ผลผลิตจะลดลงถ้า
            ช่วงแสงของวันยาวเกิน 10-12 ชั่วโมง ขึ้นได้ดีในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิ 10-30 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝน 500-2,500 มิลลิเมตรต่อปี
                   ความต้องการธาตุอาหารของ มันสำปะหลัง มันสำปะหลังมีความต้องการธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม โดยในแต่ละฤดูการผลิตมันสำปะหลังจะต้องการธาตุไนโตรเจน 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ ฟอสฟอรัส 6-10 กิโลกรัมต่อไร่ และต้องการโพแทสเซียม 8-12 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณธาตุอาหารในดินก่อนปลูก มันสำปะหลังจะตอบสนองต่อปริมาณธาตุไนโตรเจนที่ได้รับมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความสามารถในการอุ้มน้ำของดินและปริมาณฝนที่ตกกระจายอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้เปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันลดลง ส่วนธาตุฟอสฟอรัสนั้นถึงแม้จะมีปริมาณความต้องการน้อยกว่าธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม แต่ก็มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและปริมาณผลผลิตที่สำคัญอย่างยิ่ง ธาตุฟอสฟอรัสจะมีประโยชน์ต่อมันสำปะหลังมากที่สุดที่ระดับ pH ของดินเป็นกลางในระหว่าง 6-7 สำหรับธาตุโพแทสเซียมนั้นมีความสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายคาร์โบไฮเดรทจากส่วนใบและต้นไปยังราก เพิ่มปริมาณแป้งในหัวมัน และลดปริมาณไฮโดรไซยานิคในหัวมัน การขาดโพแทสเซียมจะทำให้ผลผลิตหัวมันลดลงอย่างชัดเจน ใบแก่จะร่วงหล่นเร็วกว่าปกติ ใบเล็กแคบ และลำต้นแคระแกร็น
         
             
               3.1 การเตรียมพื้นที่
                  3.1.1 การเลือกพื้นที่ปลูก
                  ควรเลือกพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ติดต่อกัน ห่างจากถนนหลวงและมีความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยธรรมชาติค่อนข้างสูง ประกอบด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังอย่างเพียงพอ มีแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูก ไม่ควรเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือมีการปนเปื้อนของสารเคมีสูง และห่างจากพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีการเกษตร พื้นที่ที่จะใช้ในการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ต้องมีการวิเคราะห์สมบัติของดินและน้ำ เพื่อตรวจสอบหาสารพิษตกค้าง และทำประวัติการทำการเกษตรของพื้นที่
             
                  3.1.2 การวางผังแปลง
                      การทำไร่มันสำปะหลังอินทรีย์นั้นจะต้องมีการวางผังแปลงอย่างดี มีการจัดแบ่งพื้นที่ ระหว่างแปลงมีถนนเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน ในพื้นที่ราบควรวางแนวแปลงปลูกให้ขนานกับทางลำเลียง แต่ในบริเวณลาดเอียงปลูกขวางความลาดเอียงของพื้นที่เพื่อลดการชะล้างและสูญเสียหน้าดิน
             
                  3.1.3 การปรับพื้นที่
                      เน้นการปรับหน้าดินเพื่อไม่ให้น้ำขังในแปลง บริเวณที่ลุ่มเป็นแอ่งเล็กน้อย ควรปรับเอาดินข้างๆ มากลบ แต่ถ้าเป็นแอ่งลึกและกว้างควรแก้ไขโดยการระบายน้ำออก
             
                  3.1.4 การปลูกพืชเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอกพื้นที่หรือทางอากาศ
                      ปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วเพื่อเป็นแนวกันชน ป้องกันลม ป้องกันแมลงศัตรูพืชและสารเคมีจากพื้นที่อื่น ได้แก่ กระถิน แคฝรั่ง มะแฮะ เป็นต้น
             
                  3.1.5 การเตรียมดิน
                      มันสำปะหลังเป็นพืชหัว ผลผลิตที่ใช้ประโยชน์คือรากที่มีการสะสมอาหารจำพวกแป้งจนขยายใหญ่ขึ้นเป็นหัวอยู่ในดิน การเลือกพื้นที่ควรเลือกที่ดอน ดินเป็นดินร่วนปนทราย ถ้าเป็นดินเหนียวต้องมีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง และต้องมีหน้าดินลึกพอสมควร ก่อนปลูกควรไถและพรวนอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร เพื่อกลบเศษซากพืชจากฤดูก่อน และทำลายวัชพืชต่างๆ ให้ลดจำนวนลง การไถให้ใช้ผาน 3 ติดท้ายรถแทรกเตอร์ 1 ครั้ง ตามด้วยผาน 7 อีก 1 ครั้ง จะได้ผลผลิตมันสำปะหลังและกำไรสูงสุด ถ้าพื้นที่มีความลาดชันต้องไถพรวนตามแนวขวาง เพื่อป้องกันการชะล้างของดิน และถ้าดินระบายน้ำไม่ดีต้องยกร่องปลูก
             
             

       
         
            3.2 การบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ
               การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และทำให้ดินมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ สามารถทำได้โดยการเพิ่มปริมาณซากพืช เพิ่มธาตุอาหารพืชในดิน และกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางชีวภาพในดิน สามารถทำได้ดังนี้
         
               3.2.1 ไม่เผาตอซังมันสำปะหลัง และเศษวัสดุอินทรีย์ แต่ทำการไถกลบลงในพื้นที่เพาะปลูก
               3.2.2 ปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อไถกลบ โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วพร้าอัตรา 8-12 กิโลกรัมต่อไร่ ระหว่างปลูกพืชปุ๋ยสดให้ทำการฉีดด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำอัตรา 5 ลิตรต่อไร่ โดยเจือจางด้วยน้ำในสัดส่วน 1:500 หรือ 1:1,000 ไถกลบเมื่ออายุประมาณ 45 วัน หรือถั่วพุ่มอัตรา 6-8 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบเมื่ออายุประมาณ 35 วัน ซึ่งเป็นช่วงออกดอก ทิ้งไว้ 15 วัน ก่อนปลูกมันสำปะหลัง
               3.2.3 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ เจือจาง 1: 500 หรือ 1:1,000 ฉีดพ่นให้ทั่วแปลง และฉีดพ่นให้แก่มันสำปะหลัง หลังจากปลูกแล้ว 15 วัน หลังจากนั้นให้ฉีดพ่นทุกๆ 1 เดือน จนกว่าจะเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง
               3.2.4 ปลูกพืชปุ๋ยสดแซมมันสำปะหลัง เช่น ถั่วพุ่ม หรือถั่วพร้า แซมในแถวมันสำปะหลัง โดยปลูกหลังจากปลูกมันสำปะหลังไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วตัดคลุมดินช่วงพืชปุ๋ยสดออกดอก เพื่อเป็นการรักษาความชื้นในดิน และเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน เมื่อเศษพืชปุ๋ยสดสลายตัว
         
         
         
            3.3 วิธีการปลูก
               การเตรียมท่อนพันธุ์
                   การปลูกมันสำปะหลังนิยมใช้ท่อนพันธุ์ โดยตัดลำต้นให้เป็นท่อนยาว 15-20 เซนติเมตร เลือกใช้ต้นพันธุ์ที่แก่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป แช่ท่อนพันธุ์ในปุ๋ยอินทรีย์น้ำ เจือจาง 1:500 หรือ 1:1,000 เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำมาผึ่งท่อนพันธุ์ให้แห้ง ก่อนนำไปปลูก
         
               วิธีปลูก
                   การปลูกมันสำปะหลังทำได้โดยนำท่อนพันธุ์ที่เตรียมไว้ปักลงในดินให้ลึกประมาณ 2/3 ของท่อนพันธุ์ ควรระวังอย่าปักส่วนยอดลงดินเพราะตาจะไม่งอก การปักตรง 90 องศา หรือปักเฉียง 45 องศากับพื้นดิน ให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน และมันสำปะหลังจะงอกเร็ว สะดวกต่อการกำจัดวัชพืชและปลูกซ่อม และลงหัวด้านเดียวเป็นกลุ่ม ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว และให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกแบบฝัง 10-15 เปอร์เซ็นต์
         
               ระยะปลูก
                   พันธุ์ระยอง 1 โดยใช้ระยะ 100 x 100 เซนติเมตร ซึ่งในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ 1,600 ต้น ปลูกประมาณเดือนมิถุนายน เก็บเกี่ยวเดือนเมษายน
                   ส่วนพันธุ์ระยอง 90 ควรใช้ระยะ 80 x 100 เซนติเมตร (2,000 ต้นต่อไร่) ปลูกประมาณเดือนมิถุนายน เก็บเกี่ยวเดือนเมษายน
                   พันธุ์ระยอง 60 ควรใช้ระยะ 60 x 100 เซนติเมตร (2,400 ต้นต่อไร่) ปลูกประมาณเดือนมิถุนายน เก็บเกี่ยวเดือนกุมภาพันธ์
                   พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ควรใช้ระยะปลูก 80 x 100 เซนติเมตร ปลูกประมาณเดือนมิถุนายน เก็บเกี่ยวเดือนพฤษภาคม
         
         
         
            3.4 การดูแลรักษาและกำจัดศัตรูพืชในระบบเกษตรอินทรีย์
               3.4.1 การป้องกันกำจัดโรคพืช
                   มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทย มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวนน้อยมาก ซึ่งปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี และมีความต้านทานต่อโรคและแมลงอยู่แล้ว อาจพบได้ในบางกรณี เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบจุดไหม้ โรคใบจุดขาว สามารถป้องกันกำจัดโดยใช้สารสกัดป้องกันเชื้อราจาก กระชาย ก้ามปู ตะไคร้ สมอดุ้ง เป็นต้น โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคใบไหม้ ป้องกันกำจัดโดยใช้สารสกัดป้องกันเชื้อแบคทีเรียจาก กระชาย ตะไคร้ ตีนเป็ดทะเล ฉัตรพระอินทร์ เป็นต้น
         
                  โรคและการป้องกันกำจัด
                   มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทย มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวนน้อยมาก อาจเนื่องมาจากส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมืองซึ่งปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี และมีความต้านทานต่อโรคและแมลงอยู่แล้ว แต่เมื่อนำพันธุ์ใหม่เข้ามาปลูกโดยไม่มีการควบคุมที่ดีพอ อาจมีโรคร้ายแรงติดเข้ามาระบาดในประเทศได้โรคที่พบระบาดในประเทศไทย มีดังนี้
         
                                                                                                                             
                     
                         
                              โรคใบจุดสีน้ำตาล (brown leaf spot) เกิดจากเชื้อรา Crecosporidium henningsii อาการที่พบจะเป็นจุดที่ใบโดยเฉพาะใบแก่ รอยแผลจะเป็นเหลี่ยมตามเส้นใบ มีขอบชัดเจน สีเหลืองตรงกลางแผลจะแห้ง โรคนี้พบได้ในทุกพันธุ์ พันธุ์พื้นเมืองซึ่งเป็นพันธุ์ต้านทานปานกลาง โรคนี้ทำให้ผลผลิตลดลง 14-20 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันกำจัดโดยใช้สารสกัดป้องกันเชื้อราจากกระชาย ก้ามปู ตะไคร้ สมอดุ้ง เป็นต้น
                           
                         
                              โรคใบไหม้ (cassava bacterial blight, CBB) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas camprestris pv. Manihotis อาการจะเกิดขึ้นที่ใบ เริ่มแรกเป็นจุดเหลี่ยมฉ่ำน้ำแล้วขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นใบไหม้ ใบเหี่ยวร่วงหล่น มียางไหล ต่อมาเกิดอาการยอดเหี่ยว และแห้งตายลงมา (die back) เป็นโรคที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่งซึ่งจะทำความเสียหายให้มันสำปะหลังได้ถึง 30-90 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทยพบอาการต้นเป็นโรคและไม่ระบาดรุนแรง อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมในการระบาด และพันธุ์ที่แนะนำส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างต้านทานต่อโรคนี้ ป้องกันกำจัดโดยใช้สารสกัดป้องกันเชื้อแบคทีเรียจากกระชาย ตะไคร้ ตีนเป็ดทะเล ฉัตรพระอินทร์ เป็นต้น
                           
                              นอกจากนี้ ยังสามารถพบโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคใบจุดไหม้ (blight leaf spot) เกิดจากเชื้อรา Cercospora viscosae โรคใบจุดขาว (white leaf spot) เกิดจากเชื้อรา Phaeoramularia manihotis โรคลำต้นเน่า (stem rot) เกิดจากเชื้อ Glomerella cingulata และโรคหัวเน่า (root rot) ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อราหลายชนิด มักจะเกิดขึ้นเมื่อหัวมันสำปะหลังเป็นแผล
                     
                   
         
               3.4.2 การป้องกันกำจัดแมลง
                   แมลงที่ทำลายมันสำปะหลังมักจะพบระบาดมากในช่วงที่อากาศค่อนข้างแห้งแล้ง มักจะเป็นแมลงพวกปากดูด ได้แก่ ไรแดง เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว สามารถป้องกันกำจัดโดยพ่นสารสกัดจาก ขมิ้นชัน ข่อย หางไหล เถาวัลย์เปรียง ปอกระเจา รางจืด สะเดา เป็นต้น เพื่อฆ่าแมลงและศัตรูพืชเป็นจุดเฉพาะบริเวณที่ระบาดรุนแรง
         
                                                                                                                             
                     
                         
                              ไรแดง (red spider mite) ที่พบทำความเสียหายให้มันสำปะหลังมี 2 ชนิด ได้แก่ ไรแดงหม่อน (Tetranychus truncatus) จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใต้ใบล่างๆ แล้วลามขึ้นมาขึ้นสู่ยอด และไรแดงมันสำปะหลัง (Oligonychus biharensis) จะดูดกินน้ำเลี้ยงบนหลังใบส่วนยอด แล้วขยายปริมาณลงสู่ส่วนล่างของต้น ถ้าไรแดงระบาดมากๆ ใบจะเหลืองซีด ม้วนงอ ส่วนยอดงองุ้ม ถ้ามันสำปะหลังมีขนาดเล็กอาจตายได้ หากระบาดมากต้องพ่นสารสกัดจาก ขมิ้นชัน ข่อย หางไหล เถาวัลย์เปรียง ปอกระเจา รางจืด สะเดา เป็นต้น เพื่อฆ่าแมลงและศัตรูพืชเฉพาะบริเวณที่มีการระบาดรุนแรง
                           
                         
                              เพลี้ยแป้ง (stripped mealy bug) เป็นแมลงปากดูด ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ และถ่ายมูลเหลวไว้ทำให้เกิดราดำ ถ้าระบาดมากต้นจะแคระแกร็น ยอดแห้งตาย หรือแตกพุ่ม ถ้าพบต้องตัดต้นไปทำลาย พ่นสารสกัดจาก ขมิ้นชัน ข่อย หางไหล เถาวัลย์เปรียง ปอกระเจา รางจืด สะเดา เป็นต้น
                           
                         
                              แมลงหวี่ขาว (white fly) เป็นแมลงปากดูดจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนใต้ใบพืช และถ่ายมูลเหลวออกมาทำให้เกิดราดำ มักเกิดควบคู่กับการเข้าทำลายของไรแดง และเพลี้ยแป้ง พ่นสารสกัดจากขมิ้นชัน ข่อย หางไหล เถาวัลย์เปรียง ปอกระเจา รางจืด สะเดา เป็นต้น
                              แมลงปากกัดอื่นๆ พบบ้างแต่ไม่ทำความเสียหายมากนัก เช่น แมลงนูนหลวง ตัวหนอนจะทำลายกัดกินราก ต้นมันสำปะหลังที่มีขนาดเล็กอาจตายได้ ด้วงหนวดยาว ตัวหนอนจะกัดกินภายในเหง้าและต้นทำให้ต้นหักล้ม
                     
                   
         
               3.4.3 การควบคุมวัชพืช
                   ในระยะแรกของการปลูกมันสำปะหลังจะมีวัชพืชขึ้นรบกวนมาก และระยะเวลาวิกฤตในการกำจัดวัชพืชจะอยู่ที่ 2-3 เดือนแรก เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่มันสำปะหลังกำลังลงหัว หลังจาก 4 เดือนไปแล้วมันสำปะหลังจะไม่มีการสร้างหัวเพิ่ม แต่จะขยายขนาดหัวให้ใหญ่ขึ้น ถ้ามีวัชพืชขึ้นรบกวนในช่วงนี้มากจะทำให้ผลผลิตลดลง การเริ่มกำจัดวัชพืชครั้งแรกต้องรีบกระทำ อาจเริ่มที่ 15 วันหลังจากปลูก ยิ่งล่าช้าออกไปผลผลิตจะยิ่งลดลง ควรกำจัดวัชพืชครั้งแรกให้เสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากปลูก และอาจต้องกำจัดวัชพืชอีก 2-3 ครั้ง จนกว่าพุ่มของใบมันสำปะหลังจะชิดกัน หรืออีกวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันวัชพืชได้คือการปลูกพืชปุ๋ยสดแซมในแปลงมันสำปะหลัง เป็นการคลุมดินป้องกันวัชพืชได้ในช่วงแรกๆ แล้วตัดวางคลุมดินไว้ หรือใช้สารสกัดจากควินิน แกง ชุมเห็ดไทย ตำแยแมว ชบา น้ำนมราชสีห์ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืช
         
               
         
            3.5 การจัดการดินหลังเก็บเกี่ยว
                   มันสำปะหลังได้เปรียบพืชไร่ชนิดอื่นที่สามารถยืดหยุ่นอายุการเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังตามความจำเป็น เช่น ราคา และแรงงาน แต่โดยปกติจะเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 10-12 เดือน เพราะผลผลิตมันสำปะหลังจะมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น หลังจากเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลัง ต้องตัดเหง้าและต้นออก และรีบส่งหัวมันสดเข้าโรงงานทันที หรืออย่างช้าไม่เกิน 3 วัน มิฉะนั้นหัวมันจะเริ่มเน่า ส่วนลำต้นต้องเก็บทันทีเพื่อใช้ทำพันธุ์ต่อไป โดยนำไปกองรวมกันแบบตั้งขึ้นให้โคนติดพื้นดินส่วนยอดตั้งขึ้นในร่ม วิธีนี้สามารถเก็บต้นได้นานถึง 30 วัน ส่วนของกิ่ง ก้าน และใบ และในส่วนที่เป็นวัสดุตอซังให้สับกลบลงสู่ดินทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
         
               
         
            3.6 การบันทึกข้อมูล
                   เพื่อให้ระบบการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ถูกต้องตามหลักการเกษตรอินทรีย์ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีปลอดภัยจากสารพิษ จำเป็นต้องมีระบบการบันทึกข้อมูลตั้งแต่การเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักการของระบบเกษตรอินทรีย์


เห็นข้อมูลดีๆเลยเก็บมาฝากครับ ขอบคุณ http://charamusic.fix.gs/index.php?board=6.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น